วอลล์สตรีทอิงลิช ได้สังเกตกระบวนการและเทคนิคการจำคำศัพท์ของนักเรียนแต่ละคน แต่ละวิธีก็ได้ผลที่ไม่เหมือนกัน โดยขึ้นอยู่กับผู้เรียนแต่ละคน เราได้สรุปเทคนิคที่นักเรียนของเราใช้เพื่อจำคำศัพท์ภาษาอังกฤษใหม่ๆ ซึ่งมีอยู่สองทางด้วยกัน นั่นคือ การเปิดหาความหมายของคำศัพท์ที่เราไม่รู้ และ การเรียนรู้คำศัพท์ใหม่ๆ ผ่านการใช้งานจริง เราได้เห็นว่าสิ่งหลังที่กล่าวถึงจะทำให้คุณจำคำศัพท์ภาษาอังกฤษได้มาก และรวดเร็วยิ่งขึ้น รวมถึงเทคนิคที่เราจะนำมาเสนอดังต่อไปนี้ ที่จะมาช่วยให้คุณเชี่ยวชาญด้านคำศัพท์ภาษาอังกฤษมากขึ้นครับ
-
เปิดหาความหมายของคำศัพท์ใหม่ทุกคำ
อยากเพิ่มความสามารถในการจำคำศัพท์ ทางเดียวที่ได้ผลดีที่สุดคือ เมื่อคุณเจอศัพท์ใหม่ๆ ก็ต้องเปิดอ่านความหมายของคำเหล่านั้นทุกครั้ง อย่าย้อท้อ และอย่าคิดว่าคุณรู้ความหมาย หรือ สามารถเดาความหมายได้ หากคุณไม่ว่าง ให้จดศัพท์คำนั้นและเปิดหาความหมายในเวลาที่คุณว่าง ปัจจุบันเครื่องมือสื่อสารทำให้เราหาความหมายของศัพท์ที่เราไม่รู้ได้อย่างง่ายดาย
ผมขอเน้นย้ำนิดนึงครับว่า คำแนะนำข้อนี้อาจฟังดูธรรมดา และเป็นของตายสำหรับผู้ที่ต้องการเรียนรู้คำศัพท์ภาษาอังกฤษใหม่ๆ แต่ทว่าน้อยคนนักที่ลงมือค้นหาความหมายของศัพท์ที่ตัวเองไม่รู้อย่างจริงๆจังๆ หากคุณเพิ่งเริ่มเรียนหรือเริ่มอ่านหนังสือภาษาอังกฤษ คุณจะพบว่ามีศัพท์มากมายที่คุณไม่รู้ความหมาย ไม่รู้ว่าจะเริ่มจากตรงไหนดี และอาจถอดใจได้กลางคัน การค้นหาความหมายเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่สุด
เครื่องมือที่แนะนำ แอปพลิเคชัน Play Books คุณสามารถซื้อและดาวน์โหลดตัวอย่างหนังสือมาทดลองอ่านได้อย่างง่ายดาย แถมคุณยังสามารถค้นหาความหมายของคำศัพท์ที่คุณไม่รู้ผ่าน Google Translate ได้โดยตรง โดยไม่ต้องสลับแอปไปมาให้ปวดหัวอีกด้วยครับ
-
ถามเพื่อนของคุณ
ที่วอลล์สตรีทอิงลิช คุณจะได้พบเพื่อนผู้เรียนมากมาย ที่มีระดับภาษาที่ต่างกัน เราเป็นโรงเรียนที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนพูดภาษาอังกฤษเมื่อเข้ามาเรียนกับสถาบัน ดังนั้นหากคุณได้ยินเพื่อน หรือ อาจารย์เจ้าของภาษา ที่ใช้คำศัพท์ที่คุณไม่เข้าใจ คุณสามารถถามความหมายอย่างสุภาพ และเรียนรู้คำศัพท์ใหม่ๆ ได้ทันที
วิธีการแรกที่เรานำเสนอไปคือการจำคำศัพท์ที่คุณไม่รู้ความหมาย แต่วิธีนี้จะเป็นการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์การใช้งานจริง ลองจินตนาการถึงตอนที่คุณอยู่ต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่พูดภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก คุณจะต้องสื่อสารในชีวิตประจำวัน และคุณจะเกิดการเรียนรู้อย่างรวดเร็ว และจดจำผ่าน social interaction ซึ่งดีกว่าการท่องจำคำศัพท์เป็นไหนๆ
-
มีหนังสือภาษาอังกฤษติดมือ และอ่านทุกวัน
อาจฟังดูง่าย ชัดเจน เป็นคำแนะนำที่คุณคงได้ยินมาซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่นั้นเป็นเพราะวิธีนี้ทำแล้วได้ผลครับ อ่านภาษาอังกฤษทุกวัน แม้ว่าจะเป็นระยะเวลาสั้นๆ ก็ตาม คำนวนง่ายๆ หากคุณอ่านหนังสือวันละ 20 นาที ในหนึ่งปี คุณก็จะอ่านหนังสือไปกว่า 120 ชั่วโมง และแน่นอนว่าความรู้ที่คุณได้รับจากสิ่งที่คุณอ่าน จะช่วยให้คุณต่อยอดในเรื่องการงาน การเข้าสังคม ได้อีกด้วย
-
การเรียนรู้ทุกอย่างใช้เวลา ดังนั้นคุณต้องใจเย็นๆ
ผมเชื่อว่าหลายๆ คนคงอยากเก่งภาษาอังกฤษเร็วๆ แต่ทักษะบางอย่างคุณต้องปล่อยให้พัฒนาไปอย่างช้าๆ ให้เวลากับตัวคุณเพื่อทำความคุ้นเคยกับศัพท์ใหม่ๆ ที่คุณได้เรียนรู้ ก่อนที่คุณจะนำคำศัพท์ใหม่ๆ ไปใช้งานจริง เพื่อคุณจะได้ไม่เสียหน้าเมื่อนำไปใช้อย่างไม่เหมาะสม ดังนั้นมันจะดีกว่าหากคุณได้เห็นคำศัพท์นั้นๆ ผ่านตา หลายๆครั้งก่อนที่คุณจะนำไปพูดหรือใช้ในที่สาธารณะจริงๆ
-
ฟังภาษาอังกฤษผ่าน Podcasts และ Audiobooks
แทนที่คุณจะฟังเพลง หรือ เล่นเกมในตอนที่คุณเดินทางบนรถไฟฟ้า หรือโดยสารรถประจำทาง ลองเปลี่ยนมาฟัง podcasts สนุกๆ ที่จะทำให้คุณมีความคุ้นเคยกับภาษาอังกฤษ รวมถึงฝึกฟังสำเนียงได้อีกด้วย
-
การสร้างรหัสช่วยจำ Mnemonic Device
อย่าเพิ่งงงกันนะครับ Mnemonic Device คือ การใช้รหัสช่วยจำ ซึ่งเราคุ้นเคยกันดี ในตอนที่ร้องเพลงเพื่อช่วยจำสิ่งต่างๆ หรือ สิ่งที่เราเรียกกันว่า วิชามาร ซึ่งหากคุณสร้างวิธีการจำของคุณขึ้นมาจะช่วยให้คุณเรียนรู้คำศัพท์ใหม่ๆ ได้ง่ายดายยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น หากคุณต้องการจำความหมายของคำว่า dogmatic ซึ่งความหมายคือ หัวรั้น ให้ลองนึกถึงคำว่า dog ที่อยู่ในคำๆ นี้ และ สุนัขตัวนี้ถึงล่ามโซ่อยู่ แต่มันพยายามหนีอยู่ตลอดเวลา คุณก็จะนึกความหมายของคำๆ นี้ได้โดยอัตโนมัติเมื่อคุณอ่านเจออีกเป็นครั้งที่สอง
-
เขียนศัพท์ใหม่ลงบนกระดาษ
เมื่อคุณไม่สามารถสร้างรหัสช่วยจำได้ อีกวิธีหนึ่งคือเขียนลงบน post it และนำมันไปแปะไว้กับสถานที่ๆ เกี่ยวข้องกับความหมายของคำนั้นๆ เช่น คำว่า toast ติดไว้ข้างเครื่องปิ้งขนมปัง การที่คุณจดคำศัพท์ที่คุณต้องการจำเอาไว้และทบทวนทุกๆ เช้า จะช่วยให้คุณจำได้ดีขึ้น ซึ่งผมจะอธิบายในข้อถัดไปว่าเพราะเหตุใด
-
ทุกศัพท์ใหม่ที่คุณอ่าน คือการเพิ่มความจำให้กับเซลล์ประสาท
สมองของเราใช้เซลล์ประสาทเพื่อการจำสิ่งต่างๆ เมื่อคุณเรียนรู้คำศัพท์ใหม่ๆ สัญญาณประสาทจะเดินทางไปยังสมองส่วนเก็บความจำ หากสัญญาณประสาทไม่เคยเดินผ่านเส่นประสาทใหม่มาก่อน ถือเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใหม่ ดังนั้นการส่งสัญญาณประสาทไปยังเส้นประสาทนี้อย่างสม่ำเสมอจะทำให้สมองของคุณสามารถดึงความหมาย หรือระลึกเหตุการณ์ออกมาได้ง่ายขึ้น
เมื่อคุณมีความเข้ากระบวนการจำที่เกี่ยวเนื่องกับการทำงานของสมองแล้ว คุณก็จะมองเห็นความสำคัญของการทบทวนคำศัพท์ภาษาอังกฤษและความรู้ใหม่ๆ อย่างสม่ำเสมอเพื่อให้คุณสามารถเพิ่มคำศัพท์ในคลังสมองของคุณได้มากยิ่งขึ้น
-
พยายามจำความหมายสั้นๆ อย่าจำแบบน้ำท่วมทุ่ง
แน่นอนว่ามันย่อมดีกว่าหากคุณใช้คำศัพท์อย่างง่ายได้อย่างถูกต้องดีกว่าใช้คำศัพท์สูงๆแบบผิดๆ เมื่อคุณเลือกใช้คำศัพท์ยากๆ แทนที่จะใช้ศัพท์อย่างง่าย คุณต้องแม่นรายละเอียดในสิ่งที่คุณต้องการจะสื่อเสียก่อน เพราะเมื่อเราต้องการสื่อสารแบบสั้นๆ กระชับ และได้ใจความที่สุด การใช้ศัพท์เชิง advanced จะช่วยให้คุณสื่อสารได้กระชับขึ้น แต่อย่างไรก็ตามเราก็ต้องระวังให้มากเมื่อเราเลือกใช้คำศัพท์ หากสารที่คุณต้องการจะสื่อนั้นสามารถใช้คำศัพท์อย่างง่ายได้โดยไม่จำเป็นต้องเลือกศัพท์ advanced ก็จะมีประสิทธิภาพ และเข้าใจได้ง่ายกว่าครับ